หน้าแรก วันวิสาขบูชา เกี่ยวกับวันวิสาขบูชา กิจกรรมวันวิสาขบูชา เอกสารสำคัญ อันเนื่องจากวันวิสาขบูชา คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ เว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา
 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือสมุดภาพ แดนพุทธภูมิ
ฉลองชนมายุ ๘๐ ปี พระสุเมธาธิบดี

ลุมพีนีวัน
          เป็นพุทธสังเวชนียสถานหนึ่งในสี่ตำบลที่สำคัญอย่างยิ่ง อยู่ที่อำเภอไภรวา ประเทศเนปาล ห่างจาก สิทธารถนคร ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร และห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์เก่า (ติโลระโกต) มาทางทิศตะวันออก ๒๒ กิโลเมตร หรือนัยหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเทวทหะ ซึ่งตามตำราทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า อยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ

ลักษณะซากปรักหักพังของบริเวณลุมพินีวัน
          กองโบราณคดีเนปาล ได้รักษาดูแลลุมพินีวันแห่งนี้ไว้ เป็นสมบัติของชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ของนักแสวงบุญทั่วโลกบริเวณที่นี่ เป็นลักษณะรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า เจ้าหน้าที่โบราณคดีเนปาลได้จัดการล้อมรั้วกั้นไว้ ภายในบริเวณมีซากปรักหักพังของตัวอาคาร คล้ายสังฆารามแยกเป็นหมวดหมู่ของห้องเล็กๆ ก่อด้วยอิฐทั้งหมดเป็นของเก่า ที่เจ้าหน้าที่ได้ขุดค้นขึ้นมา บางแห่งก็เป็นองค์สถูป ทรงกลมตั้งเรียงกัน
         ทางด้านเหนือของบริเวณนี้มีวิหารอยู่หนึ่งหลังเรียกกันว่า มายาเทวีมหาวิหาร ภายในวิหารมีรูปสลักหินเก่าแก่ตั้งอยู่ในรูปสลักของพระนางสิริมหามายา กำลังประทับยืนประสูติพระราชโอรส คือ เจ้าชายสิทธัตถะ
         ติดกับบริเวณตัววิหารลงมาทางทิศใต้ เป็นสระน้ำโบกขรณีซึ่งเชื่อกันว่า เป็นสระน้ำเก่าที่ใช้สรงสนามพระวรกายของพระสิทธัตถะกุมารเมื่อประสูติออกมาใหม่ๆ ติดกับตัววิหารทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้ง ของเสาพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงปักวางไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญว่าตรงนี้คือ ที่ประสูติของพระพุทธองค์ ทางด้านทิศตะวันออกของบริเวณสวนลุมพินี (นอกเขต) ปัจจุบันมีวัดพุทธอยู่ ๒ วัด คือ วัดชาวพุทธเนปาลและวัดธิเบต
         "ลุมพินี" สมัยก่อนพุทธกาลเป็นป่าใหญ่ อยู่ในเส้นทางระหว่างกรุงกบิลพิสดุ์ (พระเจ้าสุทโธทนะ) และ กรุงเทวทหะ (พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา)
         ป่าใหญ่ที่ชื่อ "ลุมพินี" ได้เกิดมีความสำคัญในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของโลก เพราะเกิดเป็นพุทธสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
         เป็นธรรมเนียมของยุคสมัยโบราณก่อนพุทธกาลนั้น หญิงเวลามีครรภ์ใกล้คลอด นิยมกลับบ้านเมืองเดิมเพื่อทำการคลอดลูก แต่เนื่องจาก "พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา" บ้านเมืองเดิมอยู่ที่กรุงเทวทหะ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงกบิลพัสดุ์) เมื่อใกล้ประสูติกาล จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เดินทางกลับมาตุภูมิที่กรุงเทวทหะ แต่เดินทางยังไม่ทันถึงมาตุภูมิ เดินได้เพียงแค่ครึ่งทางที่ป่าใหญ่ "ลุมพินี" ก็พอดีเกิดประสูติกาล ประสูติพระราชกุมารคือ "เจ้าชายสิทธัตถะ" ที่กลางป่าใหญ่ที่ "ลุมพินี" นั่นเอง
         พระญาติผู้ใหญ่แห่งนครทั้งสองคือ "กรุงกบิลพัสดุ์" และ "กรุงเทวทหะ" ต่างทรงเป็นห่วงพระนางสิริมหามายาพุทธมารดา และพระราชกุมารคือ "เจ้าชายสิทธัตถะ" เป็นอย่างยิ่ง ที่พระนางประสูติกลางป่าใหญ่ ที่ลุมพินี ความมหัศจรรย์ของโลก มิได้หยุดอยู่ เพียงแค่นั้น เพราะนั่นเป็นนิมิตบ่งบอกถึงความเป็นมหาบุรุษของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ "ความเป็นพระบรมศาสดาเอกของโลก" ได้กำเนิดขึ้นมาอย่างแท้จริง "สัจจธรรม" ได้แผ่ขยายได้ทั่วโลกชนิดเป็นอมตธรรมโบราณว่า "ช้างเผือก มิได้เกิดในเมือง" ฉันใด พระมหาบุรุษของโลก คือ พระบรมศาสดาของเราก็ฉันนั้น
         ปัจจุบัน "ลุมพินี" ได้รับความสำคัญจากชาวพุทธทั่วโลก กล่าวคือ "ลุมพินี" ได้รับการสถาปนา ให้เป็น "พุทธอุทยานสถานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ทั้งนี้ด้วยแรงศรัทธาและน้ำใจของชาวพุทธทั่วโลก ความสำนึกน้อมนึกได้เกิดขึ้นในสมัยขณะที่ฯพณฯอูถั่น(ชาวพุทธพม่า) ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็น "เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ" ได้ปรารภกับชาวพุทธทั่วโลก เพื่อโครงการนี้และได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น รวมถึงการเงินด้วยเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่พอควร ฯพณฯอูถั่นได้มอบโครงการนี้พร้อมทั้งทุนขอให้องค์การพุทธศานิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ถาวร อยู่ที่ประเทศไทย เป็นแกนประสานงาน และดำเนินงานตามขั้นตอนเริ่มสมัย มจ.หญิง พูนพิศมัย ดิศกุล เป็นประธาน และสมัยต่อมา ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ สืบต่อ ตราบถึงทุกวันนี้
         โครงการ "พุทธอุทยานสถาน" ที่ลุมพินี เป็นโครงการทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่โตมาก
         ๑. ใหญ่ทั้งเนื้อที่ "พุทธอุทยานสถาน"
                  - เนื้อที่ส่วนที่ปลูกเป็นป่าใหญ่ นับหมื่นเอเคอร์
                  - เนื้อที่ส่วนจัดสรรให้ประเทศต่างๆ สร้างวัด ๖,๐๐๐ ไร่
                  - เนื้อที่ส่วนที่เป็น "พุทธอุทยานสถาน"
         ๒. ใหญ่ทางด้านเป็นศูนย์ประสานงานทางพระพุทธศาสนา
         ๓. ใหญ่ทั้งเป็น "ศูนย์รวมวัดทั่วโลก" จะมาปลูกสร้างในพื้นที่บริเวณติดต่อกัน ขณะนี้ประเทศต่างๆ จองมาสร้างวัดแล้วถึง ๔๑ ประเทศ (รวมทั้งจีนใหญ่ ประเทศจีน) และประเทศโซเวียตรัสเซียด้วย)
         โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากสำหรับโลกชาวพุทธ บ่งบอกถึงโลกของชาวพุทธในอนาคตนั้น จักมีวิวัฒนาการที่น่าขื่นชมและแปลกใหม่สำหรับโลกชาวพุทธที่มีการรวมตัวกันด้วยความมี "เอกีภาพสัมพันธ์" ที่สำคัญยิ่ง
         คาดไม่ถูกว่า อีก ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีข้างหน้า จะได้ดูได้ชมความก้าวหน้าก้าวไกลมากน้อยเพียงไร เพราะเป็นโครงการที่ดำเนินงานไปอย่างช้าๆ เนื่องด้วยเจ้าของประเทศไม่ได้เป็นชาวพุทธโดยตรง การประสานงานคงเป็นไปด้วยความยากและจำต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง



มหาดไทย ดอท คอม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย True Together